​​​​​​​​​​​​​​​Unpacking Opportunities
มุ่งสู่อนาคตปี 2030
มองไกลเรื่องเทรนด์อาหารและบรรจุภัณฑ์

โลกของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปทุกวันและเปลี่ยนในอัตราที่รวดเร็ว แน่นอนว่าคนทำธุรกิจต้องก้าวตามเพื่อให้ทันต่อโอกาสและชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้นำในตลาด ถ้าหากเราสามารถคาดเดาอนาคตได้ก่อนก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจของเราก้าวไปอยู่แถวหน้าและเป็นผู้นำผู้อื่นได้ไม่ยาก

ทิศทางของตลาดโลกในปี 2030

ภายในปี 2030 จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของประเทศต่าง ๆ ครั้งใหญ่ เอเชียจะแซงอเมริกาและยุโรปในเชิงอำนาจโลก โดยคิดจาก GDP ขนาดของประชากร และการลงทุนในเทคโนโลยี จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น จะมีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แ​ละตุรกี​​

Busy city with people walking

ในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8.4 พันล้านคน และ 60% อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่เริ่มเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี นอกจากนี้ กลุ่ม Gen C หรือ ผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ ซึ่งเต็มไปด้วย การสร้างสรรค์ (Creation), การเลือกสรร (Curation), การเชื่อมต่อ (Connection) และ การเป็นสังคม (Community) จะกลายมาเป็นกำลังซื้อหลัก​

ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจ

เทคโนโลยีจะมีอัตราการเติบโตสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% และมีการใช้ในแต่ละวันสูงขึ้นถึง 82% เทคโนโลยีจะมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไม่ใช่แค่ในแง่ของธุรกิจ แต่จะรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย ผู้บริโภคจะเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายมากขึ้นและในรูปแบบเรียลไทม์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นแค่เพียงหุ่นยนต์ที่พูดได้เพียงอย่างเดียวและถูกนำมาใช้ในโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบ​

People analysing and discussing reports

​​เทคโนโลยี 4.0 จะเปลี่ยนโลกทั้งใบอย่างน่าทึ่ง

เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากการสร้างเครื่องจักรเพื่อผ่อนแรงทุ่นแรงเพื่อผลิตให้มากที่สุด เข้าสู่ยุคที่เครื่องจักรและหุ่นยนต์สื่อสารกันเอง และสร้างระบบการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งแรงงานมนุษย์ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจะผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในคราวเดียว นวัตกรรมการผลิตและระบบอัตโนมัติ ค่าใช้จ่ายที่ซับซ้อนของการผลิตจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เทคโนโลยี 3D-printing จะมีราคาถูกลง 50% และ รวดเร็วขึ้นถึง 4 เท่า และจะเข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป  
 

การเติบโตที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อมีการเติบโตของประชากรและธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ในด้านทรัพยากรนั้น ความต้องการอาหาร น้ำ และพลังงานจะเพิ่มขึ้นถึง 35 – 50 % ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนของประชากร และการบริโภคของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้แหล่งพลังงานทดแทนจาก น้ำ ลม แสงอาทิตย์ และอื่นๆ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นกว่า 50%

Plant growing from rocks


​​นอกจากนี้ ในอนาคตความเข้มงวดในเรื่องของการรีไซเคิลจะมีเพิ่มมากขึ้น การจัดการน้ำ และกฎระเบียบทางอาหารโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้านโภชนาการ จะมีการเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องของไขมัน น้ำตาล หรือแม้กระทั่งเกลือ และมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซ ผู้ประกอบการในระบบอุตสาหกรรมจึงต้องมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อมครับ
 

6 เทรนด์​ขับเคลื่อนอนาคตด้านอาหารและบรรจุภัณฑ์ ในปี 2030

​เศรษฐกิจชีวภาพ (Microbial Bioeconomy)   

ในปี 2030 การใช้ทรัพยากรจะเริ่มมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น การประหยัด หรือใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ การนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องจำเป็น อาทิ การดัดแปลงพันธุกรรมของอาหาร การใช้จุลินทรีย์และเทคโนโลยีชีวภาพเชิงอุตสาหกรรมในการดัดแปลงรสชาติรวมไปถึงรสสัมผัสของอาหารโดยไม่ใช้สารสังเคราะห์ ซึ่งในอนาคตกระบวนการผลิตและรูปแบบของบรรจุภัณฑ์อาจเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับพัฒนาการนี้ครับ

Consumer using tablet to scan food to get information

อาหารดิจิทัล (Digital Food)

ปัญหาใหญ่ในยุคนี้ คือขยะประเภทเศษอาหารที่มีจำนวนมากขึ้นจนเป็นปัจจัยหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ระบบอาหารดิจิทัลจึงเกิดขึ้น มีส่วนช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การกะปริมาณและดัดแปลงวัตถุดิบอาหาร การลดปริมาณของเสียและระยะทางในการขนส่ง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการที่พอดีของผู้บริโภคในแต่ละมื้อ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น

สายการผลิตที่ไร้คน (Distributed Value Exchange)

ในโลกอนาคต มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาหารและบรรจุภัณฑ์จะถูกควบคุมการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ มีการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เพิ่มมากขึ้นและเกิดเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบครบวงจร โดยไม่ต้องใช้คนในสายการผลิต

การจัดการโลกที่ยั่งยืน (Planetary Resilience)

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมและน้ำ ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะแห้งแล้ง ภายในปี 2030 อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในชั้นบรรยากาศมากถึง 54,000 -56,000 ล้านตัน ดังนั้น โครงสร้างของธุรกิจควรมีการปรับตัวเพื่อสร้างการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากยิ่งขึ้น

โภชนาการระดับสูง (High-resolution Nutrition)

เพราะประชากรผู้สูงอายุและผู้ที่มีน้ำหนักเกินมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ในปี 2030 โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวาน อัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงมีเพิ่มมากขึ้น  ผู้คนจึงเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น ผลักดันให้เจ้าของธุรกิจต้องปรับตัวและคิดค้นสูตรอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่ใจต่อสุขภาพและตรงต่อความต้องการเฉพาะตัวของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
 

Senior couple walking in park

ซื้อใจด้วยผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น (Personal Economies)

การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ จะทำให้เกิดเทรนด์เรื่องของวัตถุดิบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มาจากท้องถิ่นสูงมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกถึงความใกล้ชิดและความไว้ใจในระบบการจัดการด้านอาหารจากที่ๆ ตนรู้จัก ชอบที่จะเลือกแบรนด์สินค้าจากคนในกลุ่มเดียวกันนั่นเองครับ เพราะฉะนั้น จะเกิดรูปแบบใหม่ ๆ ของการจัดจำหน่ายหรือกระจายสินค้าที่จะมาจากพื้นที่ห่างไกลหรือผ่านเครือข่ายที่เป็นของชุมชนมากขึ้น
 

การปรับตัวของธุรกิจอาหารเพื่อตามให้ทันโลกอนาคต

สำหรับผู้ประกอบการ การตื่นตัวและตระหนักถึงเทรนด์ที่กำลังมาถึง เพื่อความก้าวหน้าทางธุรกิจ โดยในอนาคต ผู้บริโภคจะคำนึงถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการจึงต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและสุขภาพ ควบคู่กับรสชาติอาหารที่อร่อย ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการจะต้องเปิดใจและเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ​

การปรับตัวและก้าวไปสู่ยุคใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมองเห็น โดยเต็ดตรา แพ้ค อาสาเป็นเพื่อนร่วมทางที่จะผลักดันธุรกิจของคู่ค้าให้ก้าวไกลสู่อนาคตอย่างมั่นใจ โดยเราวางแนวทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้ครับ